บทความจาก ก.ล.ต. เรื่องการกำกับดูแลสินทรัพดิจิทัลกับมุมมองของต่างชาติ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เผยแพร่บทความเรื่อง ‘แนวทางการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลของ ก.ล.ต. กับมุมมองของต่างประเทศ’ โดยระบุว่า
ในปี 2564 ถือเป็นปีที่วงการสินทรัพย์ดิจิทัลได้รับความสนใจอย่างมากจากประชาชนและภาคธุรกิจทั่วโลก ทำให้ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว
โดยปัจจุบันตลาดนี้มีมูลค่ากว่า 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (Market Cap) ในขณะที่ภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินแต่ละประเทศอาจมีมุมมองที่แตกต่างกัน และเมื่อไม่นานมานี้ ผู้เชี่ยวชาญจาก International Monetary Fund หรือ IMF เสนอแนะว่า ประเทศต่างๆ ทั่วโลกควรเพิ่มความร่วมมือกันในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล และควรมีมาตรฐานกลางในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้มีแนวทางการติดตามความเสี่ยงและกำกับดูแลการประกอบธุรกิจที่สอดคล้องกัน
โดยผู้เชี่ยวชาญจาก IMF เห็นว่า การมีกฎเกณฑ์ที่สอดคล้องกันในแต่ละประเทศจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามความเสี่ยง และกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล ตลอดจนลดปัญหาด้าน Regulatory Arbitrage ที่ผู้ประกอบธุรกิจอาจหลีกเลี่ยงไปดำเนินธุรกิจในประเทศที่มีการกำกับดูแลที่อ่อนกว่าได้
สำหรับประเทศไทย การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) โดยปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เสนอแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ) เพื่อนำสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะของการระดมทุน ได้แก่ โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) และโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ ซึ่งสินค้าหรือบริการยังไม่สามารถใช้ได้ทันที (Utility Token ไม่พร้อมใช้) ภายใต้ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ไปกำกับดูแลภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นเครื่องมือในการระดมทุน ไม่ว่าจะออกเสนอขายด้วยวิธีการดั้งเดิม หรือออกเป็นโทเคนดิจิทัล ถูกกำกับดูแลภายใต้กฎหมายและมาตรฐานเดียวกัน แนวทางของ ก.ล.ต. ดังกล่าวมีความสอดคล้องกับแนวทางในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลที่ผู้เชี่ยวชาญของ IMF เสนอ โดยพิจารณาความเสี่ยงและวัตถุประสงค์ (Main Use Case) ของสินทรัพย์ดิจิทัลแต่ละประเภทเป็นหลัก โดยแนวทางดังกล่าวยังสอดคล้องกับการกำกับดูแลของหลายๆ ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร สวิสเซอร์แลนด์ และสิงคโปร์ เป็นต้น
สำหรับการกำกับดูแลการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการนั้น ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับ ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างติดตามและพิจารณาแนวทางในการกำกับดูแลให้มีความเหมาะสมต่อไป
ในปี 2565 คงได้เห็นการพัฒนาและ Use Case ใหม่ๆ ของสินทรัพย์ดิจิทัลอีกมาก ทั้งในส่วนที่นำมาประยุกต์ใช้ในภาคการเงินและในอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งในส่วนของการกำกับดูแลนั้น ก.ล.ต. จะมีการติดตามแนวทางในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งติดตามพัฒนาการและความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัลโดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการสร้างนวัตกรรม การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และการคุ้มครองผู้ลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล
ที่มา : facebook.com/sec.or.th/
สามารถติดตามข่าวสารได้ที่ช่องทางต่างๆเพียงคลิกที่ Line , Facebook , Twitter และ Telegram