เจาะลึก การอัปเกรดครั้งใหญ่ของเครือข่าย Bitcoin (BTC) อย่าง ‘Taproot’ มันคืออะไร?
การอัปเกรดครั้งใหญ่ของเครือข่าย Bitcoin (BTC) อย่าง ‘Taproot’ เป็นการอัปเกรดครั้งสำคัญ ยกระดับความเป็นส่วนตัวในการใช้งาน เสริมประสิทธิภาพในการใช้งานให้เหนือชั้นขึ้นไปอีกระดับ พร้อมเพิ่มฟีเจอร์ต่างๆ อีกมากมายเข้ามาสู่เครือข่าย แต่ว่ามันคืออะไรกัน? ทำไมถึงต้องอัปเกรด?
Taproot คืออะไร?
‘Taproot’ ก็คือชื่อของการอัปเกรดแบบ Soft fork ครั้งใหญ่ของ Bitcoin ซึ่งจริงๆ แล้วการอัปเกรด ‘Taproot’ ก็มีการถูกพูดถึงกันมาหลายปีแล้ว โดยแนวคิดการอัปเกรด ‘Taproot’ ก็เกิดขึ้นครั้งแรกโดยคุณ ‘Greg Maxwell’ หนึ่งในนักพัฒนา Bitcoin ที่ได้เสนอแนวคิดนี้มาตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม 2018 แล้ว
อย่างที่ทราบกันดี Bitcoin ไม่ได้มีตัวบุคคล หรือบริษัทใดๆ อยู่เบื้องหลังอย่างเป็นทางการ ต่างจาก Cardano (ADA) ที่มีคุณ Charles Hoskinson และบริษัท IOHK อยู่เบื้องหลัง หรือที่ Binance Smart Chain มีคุณ Changpeng Zhao หรือ CZ และบริษัท Binance อยู่เบื้องหลัง
ดังนั้นการที่ Bitcoin จะมีการอัปเกรดใดๆ ก็ตามเกิดขึ้นมาได้ จะต้องเกิดจากประชามติของผู้ที่เป็น Node หรือบรรดาเหล่านักขุด Bitcoin ในเครือข่ายเห็นชอบร่วมกันนั่นเอง และหลังจากมีความเห็นชอบร่วมกันจาก Node ทั้งหมดถึง 90% เมื่อไร การอัปเกรดนั้นๆ ก็จะถูก ‘Lock-in’ และการอัปเกรดนั้นก็จะเกิดขึ้นจริงในอนาคต
สำหรับการอัปเกรด ‘Taproot’ ในครั้งนี้ก็ได้ถูก ‘Lock-in’ ไปเมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา พร้อมกับมีกำหนดการอัปเกรดในเดือนพฤศจิกายนนี้เอง และอย่างที่กล่าวไปข้างต้น ‘Taproot’ จะเป็นการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ เข้ามาในเครือข่ายมากมาย แต่ที่เด่นๆ ก็จะเป็นในเรื่องของการยกระดับความเป็นส่วนตัวในการใช้งาน และเสริมประสิทธิภาพในการใช้งานให้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง
การอัพเกรด Taproot มีอะไรบ้าง?
การอัปเกรด Taproot จะประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลักๆ ที่เราเรียกมันว่า ‘BIP’ (Bitcoin Improvement Proposal) ซึ่งทั้ง 3 BIP นั่นก็คือ
1. BIP-340 (Schnorr Signatures)
2. BIP-341 (Taproot)
3. BIP-342 (Tapscript)
โดยในแต่ละ BIP ก็จะมีการอัปเกรดในแต่ละด้านแตกต่างกันออกไป
BIP-340 (Schnorr Signatures) คืออะไร?
BIP-340 หรือในชื่อว่า ‘Schnorr Signatures’ จะเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการส่ง ‘ลายเซนต์ดิจิทัล’ หรือ ‘Digital Signature’ เพื่อที่จะเป็นเครื่องยืนยันความเป็นเจ้าของของข้อมูลที่ส่งในบล็อกเชน อย่างเช่นการโอนเหรียญ ก็จะจำเป็นต้องใช้ ‘ลายเซนต์ดิจิทัล’ ในการทำธุรกรรมนั่นเอง
โดยในปัจจุบันนี้ Bitcoin ใช้ระบบลายเซนต์ดิจิทัลที่เรียกว่า ‘Elliptic Curve Digital Signature Algorithm’ หรือ ‘ECDSA’ ซึ่งการอัปเกรดของ BIP-340 ในครั้งนี้นี่เอง ก็จะเป็นการเปลี่ยนจาก ‘ECDSA’ เป็นระบบที่เรียกว่า ‘Schnorr’ ที่มีข้อดีและข้อได้เปรียบที่มากกว่ามาใช้แทน
ซึ่ง ‘Schnorr’ มีข้อดีตรงที่สามารถยกระดับความเป็นส่วนตัว, เพิ่มประสิทธิภาพของการคำนวน และลดความพื้นที่ใช้งานในเครือข่ายให้น้อยลง
เนื่องจาก ‘Schnorr’ จะเข้ามาเปลี่ยนแปลง ‘ธุรกรรมที่จำเป็นต้องใช้ลายเซนต์ดิจิทัลของหลายฝ่าย’ อย่างเช่นการทำธุรกรรมแบบ ‘Multisig’ เป็นต้น ซึ่งในระบบเก่าอย่าง ‘ECDSA’ ที่ก่อนจะมีการทำธุรกรรมใดๆ แบบ ‘Multisig’ ก็จะต้องมีการใช้ Private key และ Public key ของหลายบัญชีในการทำธุรกรรม ซึ่งบล็อกเชนก็จำเป็นต้องรับภาระเก็บ Private key และ Public key ของทุกบัญชีในการทำ ‘Multisig’ ใว้ในเครือข่าย
แต่ ‘Schnorr’ จะทำหน้าที่เข้ามา ‘ยำ’ Private key และ Public key ของทุกๆ บัญชีรวมเป็น 1 Private key และ 1 Public key ดังนั้น Blockchain ก็จะรับภาระที่ต้องจัดเก็บ Private key และ Public key แค่อย่างละ 1 เท่านั้น ซึ่งจะเป็นการลดภาระของ Blockchain ไปอย่างมาก และยกระดับความเป็นส่วนตัวที่ผู้เข้ามาดูข้อมูลในบล็อกเชนจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าธุรกรรมแบบ ‘Multisig’ นั้นๆ จำเป็นต้องใช้กี่คน หรือกี่ฝ่ายในการทำธุรกรรม เพราะ Public key ที่ระบุอยู่ในบล็อกเชนนั้นเป็น Public key ที่ผ่านการ ‘ยำ’ มาแล้วนั่นเอง
ตัวอย่างธุรกรรมแบบ ‘Multisig’ ที่จำเป็นต้องใช้ 3 คนในการทำธุรกรรม
แบบ ‘ECDSA’ เครือข่ายจะจำเป็นต้องเก็บ Public key 3 ชุด และ Private Key 3 ชุด รวมทั้งหมด 6 ชุด
แบบ ‘Schnorr’ ระบบจะนำเอา Public key 3 ชุดมายำรวมกัน และ Private Key 3 ชุดมายำรวมกัน ทำให้เครือข่ายต้องเก็บเพียงแค่ทั้งหมด 2 ชุด
BIP-341 (Taproot) คืออะไร?
BIP-341 จะเป็นการอัปเกรดเพื่อเพิ่มวิธีการใหม่ในการทำธุรกรรมผ่าน Bitcoin ด้วยวิธีที่ชื่อว่า ‘Pay-to-Taproot’ (P2TR) ซึ่งวิธีนี้เองจะเป็นวิธีการใหม่ที่เสริมความคล่องตัวให้กับการทำธุรกรรม และยกระดับความเป็นส่วนตัวให้มากยิ่งขึ้น
โดยปกติแล้ว Bitcoin จะประกอบไปด้วย 2 วิธีในการทำธุรกรรม นั่นก็คือ
1. Pay-to-Public-Key (P2PK) เป็นวิธีมาตรฐาน ที่เจ้าของเหรียญต้องใช้ Private key ในการส่ง Bitcoin ที่อยู่ใน Public key ของตัวเอง ไปยัง Public key ปลายทาง เหมือนการส่งอีเมล ที่เจ้าของอีเมลต้องใช้ Password เข้าไปส่งจดหมายไปยังอีเมลปลายทางนั่นเอง
2. Pay-to-Script-Hash (P2SH) เป็นวิธีที่ยกระดับมาจากวิธีมารตฐาน ที่ผู้ทำธุรกรรมอาจจะต้องการเพิ่มความปลอดภัยให้กับธุรกรรมให้มากขึ้น โดยสามารถตั้งเงื่อนไขสำหรับธุรกรรมไว้ได้ และถ้าหากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ธุรกรรมนั้นก็จะไม่สำเร็จ
ซึ่งวิธีการใหม่ในครั้งนี้อย่าง Pay-to-Taproot (P2TR) เป็นวิธีที่คล้ายกับ P2SH ที่สามารถกำหนดเงื่อนไขได้ว่าธุรกรรมนั้นๆ จะสำเร็จได้ต้องมีการทำตามเงื่อนไขที่ถูกกำหนดไว้ให้ได้เสียก่อน แต่จะเป็นการนำเอาวิธีการที่เรียกว่า ‘Merkelized Alternative Script Tree’ หรือ ‘MAST’ มาร่วมใช้ด้วย
ซึ่ง ‘MAST’ ก็เป็นตัวที่ทำให้ให้สามารถกำหนดเงื่อนไขสำหรับธุรกรรมนั้นๆ ได้หลายเงื่อนไขมากขึ้น ซึ่งการที่จะทำธุรกรรมใดๆ ให้สำเร็จได้ ก็ต้องมีการทำตามเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่งที่กำหนดไว้ให้ตรงเสียก่อน และก็จะไม่มีใครสามารถรู้เงื่อนไขเหล่านั้นได้เลย
โดย ‘MAST’ จะทำงานด้วยการนำเงื่อนไขต่างๆ ที่ถูกกำหนดไว้มา ‘ยำรวมกัน’ ให้กลายเป็นรูปแบบที่เรียกว่า ‘Merkle Tree’ และมี ‘Merkle Root’ ที่เป็นผลลัพท์จากการยำของเงื่อนไขต่างๆ เข้าด้วยกัน
ซึ่งจุดนี้เองที่เป็นการยกระดับความเป็นส่วนตัวด้วยการทำให้ไม่สามารถแกะเงื่อนไขต่างๆ ที่ถูกกำหนดไว้ได้ และยกระดับความคล่องตัวในการใช้งาน โดยการที่มันสามารถกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ได้หลายเงื่อนไข
BIP-342 (Tapscript) คืออะไร?
BIP-342 นี้ก็ไม่มีอะไรมาก เป็นเพียงการอัปเกรดภาษาใหม่เข้าไปในระบบของ Bitcoin เพื่อที่จะให้สามารถใช้งานวิธีการทำธุรกรรมแบบใหม่อย่าง ‘Pay-to-Taproot’ (P2TR) ของ BIP-340 และ BIP-341 ที่กล่าวไปข้างต้นได้ ซึ่งมันจะทำให้ผู้ที่ทำหน้าที่เป็น Node ของ Bitcoin สามารถเข้าตรวจสอบธุรกรรมแบบ Pay-to-Taproot (P2TR) ได้นั่นเอง
ที่มาและแหล่งอ้างอิง
อ้างอิงจากเว็บไซต์ Taproot.watch ได้มีการระบุไว้ว่าการอัปเกรด Taproot ในครั้งนี้อาจจะเป็นช่วงวันที่ 14 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้เอง
ที่มา
https://www.reddit.com/…/kraken_bitcoin_taproot_soft…/
https://www.mail-archive.com/bitcoin-dev…/msg06673.html
https://nuuneoi.com/blog/blog.php?read_id=901
ขอบคุณบทความดีๆจากเพจ Crypto by efinanceThai | Facebook